Search
Close this search box.

ผู้ใหญ่ริน

เรื่องเล่าอันไกลโพ้นของ “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน” คำว่า “ไกลโพ้น” เป็นคำเปรียบเปรยจากเรื่องราวอันยาวนานของหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นแผ่นดิน ซึ่งถูกค้นพบโดยชาวจีนที่แล่นเรือผ่านมาเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน ที่ตอนนี้กำลังจะถูกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านลูกหลานคนในหมู่บ้านกับมหัศจันท์ทอล์ก

ผู้ใหญ่ริน ผู้ใหญ่บ้านปากน้ำเวฬุ หมู่ 2 ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี คือบุคคลที่เราจะชวนมานั่งทอล์กกันในตอนนี้ “ยินดีต้อนรับสู่หมู่บ้านไร้แผ่นดินครับ ที่ ๆ หลายคนอาจจะเคยมาเที่ยว หรืออยากมาเที่ยว มาล่องแพเปียก กินปู ดูเหยี่ยว เที่ยวหมู่บ้านไร้แผ่นดิน” ที่แห่งนี้เดิมทีคนจะรู้จักกันในชื่อ “บ้านปากน้ำเวฬุ” เป็นชุมชนที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 150 ปี โดยเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2401 กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มาตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านนี้คือชาวจีนที่เดินทางอพยพเข้ามาในไทย และเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีป่าโกงกางเป็นจำนวนมาก และมีความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล มีสัตว์น้ำมากมาย จึงได้ทำประมงจนกลายเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน บ้านปากน้ำเวฬุเกิดจากการรวมกันของ 3 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย บ้านโรงไม้ บ้านเลนตัก และบ้านแหลมหญ้า ซึ่งบ้านปากน้ำเวฬุมีชื่อเรียกด้วยกันอยู่ 3 ชื่อ คือ

1. ชื่อบ้านปากน้ำเวฬุ ชื่อที่ใช้เรียกในทางราชการ เนื่องจากตัวหมู่บ้านตั้งอยู่ทางชายฝั่งของปากแม่น้ำเวฬุ จึงได้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน

2. ชื่อบ้านโรงไม้ ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน เดิมเป็นพื้นที่ป่าโกงกางหนาแน่และกว้างขวาง ในอดีตชาวบ้านตัดไม้โกงกางมาขายเพื่อทำถ่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้มีการเปิดสัมปทานให้ตัดไม้โกงกาง จึงมีผู้คนเข้ามาตัดไม้เป็นจำนวนมาก เมื่อตัดไม้ได้จะนำมากองรวมกันไว้เพื่อรอเข้าเตาเผาถ่าน ด้วยลักษณะการวางไม้เยอะ ๆ จำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านโรงไม้” แต่หลังจากที่หมดระยะสัมปทานป่าเผาถ่าน ผู้คนที่เคยทำกินอยู่บริเวณนี้จึงได้จับจองพื้นที่ตั้งรกราก และประกอบอาชีพชาวประมงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

3. ชื่อบ้านไร้แผ่นดิน ชื่อที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว สันนิษฐานว่ามาจากความสอดคล้องของลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำ โดยไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดิน เพราะมีผืนน้ำล้อมรอบ ยิ่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี น้ำจะขึ้นสูง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “น้ำโต” น้ำจะท่วมดินเลนทำให้ไม่สามารถมองเห็นพื้นดินลักษณะเหมือนบ้านลอยอยู่บนน้ำ จึงเรียกกันว่า “หมู่บ้านไร้แผ่นดิน”

การเดินทางมาที่หมู่บ้านไร้แผ่นดินนี้ มีเพียงแค่ทางเรือเท่านั้น โดยไปลงเรือที่ท่าเทียบเรือขลุง หรือท่าเรือปลายจันทร์โฮมสเตย์ เพื่อลงเรือ (จ้างเหมา) ไปที่หมู่บ้าน ใช้ระยะเวลาประมาณ 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

ผมในฐานะลูกหลานและตัวแทนพี่น้องชุมชนแห่งนี้ อยากเชิญชวนทุกคนให้ลองเข้ามาสัมผัสความงดงามทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตชาวบ้านที่นี่ดูสักครั้ง ท่านจะได้ศึกษาวิถีชีวิตชุมชนและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ทำประมง ทำกุ้งแห้ง ปลาแห้ง กะปิเคย

ที่นี่ยังมีมุม UNSEEN อย่างอุโมงต้นโกงกางที่อายุเป็นร้อย ๆ ปี มีโบราณวัตถุเก่าแก่ให้ได้ชมและฟังเรื่องราวกันยามเย็นก็ออกไปล่องแพ ชมทะเลแหวก ชมฝูงเหยี่ยวแดงที่อยู่ตามธรรมชาติ ชมป่าชายเลน แล้วกลับมากินปู กินอาหารทะเลจิ้มน้ำพริกเกลืออร่อย ๆ และพักโฮมสเตย์ เป็นการพักผ่อนกัน

“ถ้าอยากรู้ว่าที่จันทบุรี และที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน อากาศดี บรรยากาศดี สวยจริงไหม ของทะเลสด ปูใหญ่จริงหรือเปล่า อยากให้ท่านลองมาพิสูจน์ด้วยตัวเองครับ”

ติดตามชมได้ทาง

Facebook : https://bit.ly/3Sb8Cpb

TikTok : https://bit.ly/48YKBrz

YouTube : https://bit.ly/3S7rhlJ

Website : https://bit.ly/3FOoI0K

#มหัศจันท์แห่งรสชาติ #ChanthaburiGastronomy #คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ #มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตจันทบุรี #มหาวิทยาลัยบูรพา #เที่ยวจันทบุรี #ร้านอาหารจันทบุรี #TheJoutneyofมหัศจันท์แห่งรสชาติ