อาจารย์กั๊ก

วิถีการกินของมนุษย์เปลี่ยนไป “หลังวิกฤตโรคระบาด” หลังจากวิกฤตการณ์โลกระบาดครั้งรุนแรงที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทำให้มนุษย์หรือผู้บริโภคอย่างเราตระหนักได้ว่า “ควรกินอาหารที่เป็นมากกว่าอาหาร นั่นคือการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกินอาหารเป็นยา หรือที่เรียกว่า Functional Food” จึงเป็นที่มาในการนำประเด็นนี้มาจับคู่กับความต้องการของผู้ประกอบการ แล้วพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้คุณค่าทางโภชนาการ มีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ และยังสามารถจำหน่ายในราคาที่เพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย

เราจึงอยากชวนทุกคนมานั่งทอล์กกับ อ.กั๊ก ดร.ปริยดา สิทธิศาสตร์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญและดูแลกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ Comprehensive Gastronomy Tourism @ Chanthaburi โครงการที่อยู่ในการดูแลและดำเนินการโดยคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกันในตอนนี้

“ถ้าพูดถึงการบริโภคอาหารของคนยุคนี้ คือไม่ได้กินแค่เพราะมันเป็นอาหารและอร่อย แต่กินเพราะมันเป็นยาด้วยค่ะ ซึ่งการทำงานของอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อกิจกรรมที่ 4 นี้ จะมีการพัฒนาวัตถุดิบที่เป็นอัตลักษณ์ถิ่นจันทบุรีให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น กินง่ายขึ้น ราคาสูงขึ้น หรือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ไปเลย แต่ทั้งหมดนี้ก็คือ “กินแล้วดีต่อสุขภาพด้วย” เช่น มะปี๊ดหรือส้มจี๊ด ถูกพัฒนามาเป็นอาหารเสริมที่แค่ฉีกซองเทใส่น้ำ คนให้ละลายแล้วดื่มได้เลย เราก็จะได้วิตามินซีในปริมาณที่สูง แทนที่จะกินส้ม มะนาว หรือมะปี๊ดเป็นสิบ ๆ ลูก หรือกัมมี่เจลลี่กระวานมะปี๊ด และอีกกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้การกินง่ายขึ้น ปลอดภัย แล้วยังได้ประโยชน์ครบถ้วน

“มองให้ลึกถึงองค์ประกอบทางเคมีของวัตถุดิบ แล้วหยิบมาพัฒนา ออกแบบและผลิตเป็น Functional Foods ให้สารคำคัญนั้นยังอยู่” อ.กั๊กเล่าต่อว่า “ในการทำงานของกิจกรรมที่ 4 นี้จะทำงานเป็นลูกโซ่ค่ะ โดยเริ่มจากกิจกรรมที่ 1 คือการเฟ้นหาวัตถุดิบชั้นดีที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ทั้งสมุนไพร (กระวาน เร่ว พริกไทยดำ พริกไทยอ่อน ชะมวง ขิงแฮ่ง กระต่ายจาม) หรือผลไม้เขตร้อน (ทุเรียน เงาะ มังคุด สละ ระกำ) ตามด้วยกิจกรรมที่ 2 คือ พัฒนากระบวนการการปลูกให้มีคุณภาพ”

แล้วนำมาสู่กิจกรรมที่ 4 คือเรื่องของการยกระดับและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่น (Food product development) สู่ของฝาก ของที่ระลึกเชิงวัฒนธรรมประจําจังหวัด คือการนำวัตถุดิบที่กล่าวไปข้างต้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งเน้นไปในทางการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตร เพิ่มความปลอดภัย เพิ่มฟังก์ชันในการใช้งานและการบริโภคที่ผลิตจากวัตถุดิบอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรี

ซึ่งเราทำงานร่วมกับหน่วยงานอีกมากมาย เช่น พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี สมาคมอาหารและเครื่องดื่มจันทบุรี รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ตามตำบล, อำเภอต่าง ๆ ในจันทบุรีด้วยค่ะ เนื่องจากในชุมชนหรือหน่วยงานนั้น ๆ เขามีผลิตภัฑ์อยู่แล้ว แต่อยากพัฒนาให้ดีขึ้น หรือวิสาหกิจชุมชนมีวัตถุดิบที่ดีแต่ไม่รู้จะทำอะไร นำมาให้เราช่วยคิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็ทำได้เช่นกัน โดยทางเราจะนำเข้าสู่กระบวนการการพัฒนาและวิจัยในลำดับต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ออกมาจะต้องเป็นมากกว่าอาหารทั่วไป “แต่เป็น Functional Foods หรืออาหารที่กินเพื่อสุขภาพที่ผลิตมาจากวัตถุดิบอันทรงคุณค่า และแสดงถึงอัตลักษณ์ถิ่นจันทบุรีบ้านเราด้วยค่ะ”

ติดตามชมได้ทาง

Facebook : https://bit.ly/3Sb8Cpb

TikTok : https://bit.ly/48YKBrz

YouTube : https://bit.ly/3S7rhlJ

Website : https://bit.ly/3FOoI0K

#มหัศจันท์แห่งรสชาติ #ChanthaburiGastronomy #คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ #มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตจันทบุรี #มหาวิทยาลัยบูรพา #เที่ยวจันทบุรี #ร้านอาหารจันทบุรี #TheJoutneyofมหัศจันท์แห่งรสชาติ